+กีฬา

นายกเมืองพัทยาชี้แจงมหากาพย์สร้างสนามกีฬาแห่งชาติภาคตะวันออก มูลค่ากว่า700 ล้านบาท 14 ปี ไม่เสร็จ เตรียมขอเพิ่มอีก 250 ล้าน ปิดจ็อบใน 2 ปี

จากกรณีมีการนำเสนอเรื่องศูนย์กีฬาแห่งชาติภาคตะวันออก ถนนชัยพฤกษ์สอง ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มีสภาพความทรุดโทรมอย่างหนัก ทำให้ประชาชนที่เข้ามาใช้พื้นที่ทำกิจกรรมได้ไม่สะดวกโดยบริเวณลานจอดรถข้างสวนสาธารณะ มีเครื่องเล่นขนาดใหญ่ และอิฐตัวหนอน ถูกรื้อถอนออกวางกองทิ้งไว้ รวมถึงบริเวณทางเดินรอบสวนสาธารณะมีสายไฟวางระเกะระกะ อยู่บนทางฟุตปาธ บางจุดกองอยู่บนผิวน้ำที่ท่วมขัง หลังเกิดฝนตก สร้างความหวาดเสียวให้กับประชาชนที่เข้ามาใช้สถานที่เป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ภายในสวนสาธารณะ ยังพบสายไฟกองอยู่บนพื้น ตลอดแนวฟุตปาธทางเท้า รวมถึงบริเวณลู่วิ่งด้านข้างตัวอาคารกีฬาในร่ม ที่มักจะมีประชาชนมาออกกำลังกาย แต่พื้นลู่วิ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรม ข้างทางยังมีหญ้าขึ้นสูงและเริ่มลามเข้ามาในลู่วิ่ง สร้างภาพลบให้กับศูนย์กีฬาแห่งชาติภาคตะวันออกนี้เป็นอย่างมาก

รวมถึง สนามฟุตบอลขนาด 20,000 ที่นั่ง หนึ่งในโครงการของศูนย์กีฬาแห่งชาติภาคตะวันออกแห่งนี้ ที่มีการสร้างเมื่อปี 2551 แต่ผ่านมาแล้ว 14 ปี ใช้งบประมาณไปกว่า 778 ล้านบาท กลับถูกปล่อยรกร้าง มีวัชพืชนานาพันธุ์ขึ้นบดบังสนามฟุตบอล ที่ยังคงสร้างไม่แล้วเสร็จ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ถูกกองทิ้งไว้ข้างทาง ในพงหญ้า จนขึ้นสนิมนั้น

ต่อมา นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่าโครงการนี้เป็นอีก 1 ปัญหาที่นำมาใช้ในการหาเสียงเพื่อจะหาทางแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงให้จงได้ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีการจัดงบประมาณวางแผนการก่อสร้างไว้ 3 ระยะ คือ 1.ระหว่างปี 2551-2553 เป็นการก่อสร้างอัฒจันทร์ขนาด 5,000 ที่นั่ง ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2554 2.เมืองพัทยาได้ทำข้อตกลงกับกองทัพบก ภาคที่ 1 ในการก่อสร้างอัฒจันทร์ในตำแหน่งที่นั่งประธาน ซึ่งพบปัญหาด้านภูมิศาสตร์ และปฐพีศาสตร์ กล่าวคือบริเวณที่ตั้งโครงการคือช่วงเนินเขา พื้นด้านล่างเป็นแผ่นหินขนาดใหญ่ การก่อสร้างต้องใช้เทคนิคพิเศษ รวมทั้งลู่วิ่งมาตรฐาน โดยใช้งบประมาณมากขึ้น 536 กว่าล้านบาท กระทั่งแล้วเสร็จในปี 2557

นายปรเมศวร์ กล่าวอีกว่าต่อมาในปี 2559 คสช. ได้แต่งตั้งคณะบุคคลเข้ามาเป็นสมาชิกสภาเมืองพัทยา สภาเมืองพัทยาชุดนี้ได้เข้าไปตรวจสอบการก่อสร้างช่วงต้นปี 2560 พบว่าการก่อสร้างของทหารช่างมีความคืบหน้าในการก่อสร้างที่นั่งฝั่งอัฒจันทร์ของสนามฟุตบอลมาตรฐานตามแบบของการกีฬาแห่งประเทศ ขนาด 20,000 ที่นั่ง และโครงหลังคามีความคืบหน้าไปบางส่วน ร้อยละ 70 จากนั้นในช่วงเดือนกันยายน 2560 สภาเมืองพัทยาได้เปิดอภิปรายว่าจากการอนุมัติงบอุดหนุนไปให้โครงการนี้อีก 99 ล้านบาท พบว่าไม่มีความคืบหน้าและการจัดซื้ออุปกรณ์ก็มีราคาสูงเกินจริงหลายรายการ กระทั่งเมืองพัทยาได้ทำสัญญาจ้างเอกชนตามระบบ E-Bidding เข้ามาดำเนิน การก่อสร้างในระยะที่ 3 ด้วยงบประมาณอีก 398 ล้านบาท หรือต่ำกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ถึง 445 ล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายไปแล้ว 12 งวด เป็นเงิน 143.2 ล้านบาท ก่อนสุดท้ายผู้รับเหมาจะทิ้งงานไป เมืองพัทยาจึงต้องยึดเงินประกัน 19 ล้านบาท พร้อมค่าปรับอีก 80 ล้านบาท เงินล่วงหน้าอีก 38 ล้านบาทและกำลังฟ้องร้องในส่วนที่เหลืออีก 61 ล้านบาท ซึ่งเรื่องยังอยู่ในขบวนการของชั้นศาล

นายปรเมศวร์ กล่าวว่าเรื่องนี้ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด และได้เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการเพื่อหาแนวทางเร่งรัดติดตามและผลักดันให้โครงการประสบผลสำเร็จโดยเร็ว เนื่องจากทราบว่าที่ผ่านมาคณะผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้มาตรวจความคืบหน้าศูนย์กีฬาแห่งชาติภาคตะวันออก เมื่อต้นปี 2562 เนื่องจากมีนโยบายจะผลักดันให้ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ในปี 2569 ซึ่งได้เสนอต่อคณะกรรมโอลิมปิกสากลไปแล้ว และด้วยนโยบายของกลุ่มเรารักษ์พัทยาที่ต้องการพัฒนาให้เมืองพัทยาเป็น Sport Tourism หรือศูนย์กลางของ EEC อย่างเต็มรูปแบบ จึงได้เตรียมเสนอขอจัดสรรงบประมาณจากสภาเมืองพัทยาอีกจำนวน 250 ล้านบาท เพื่อให้ดำเนินการให้เสร็จภายใน 2 ปีนี้ให้ได้

นายเมืองพัทยา กล่าวว่าสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโครงการนั้น ปัจจุบันเมืองพัทยาได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบ สวนข้อเท็จจริง รวมทั้งมอบหมายให้นิติกรไปแจ้งความดำเนินการกับผู้ที่บุกรุกและขโมยทรัพย์สินของทางราชการไป รวมทั้งจะจัดกำลังเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าตรวจวัสดุอุปกรณ์และสถานที่สำคัญไว้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นอีก พร้อมยืนยันว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จตามที่สัญญาไว้กับประชาชนแน่นอน

นายกเมืองพัทยายังระบุด้วยว่า ยังมีอีกหลายโครงการที่มีการตั้งงบประมาณไปจัดสร้างแล้ว แต่ขาดการบำรุงรักษา ดูแล หรือดำเนินการต่อเนื่อง แต่กลับปล่อยทิ้งซากไว้ให้ดูต่างหน้า ทั้งโครงการอาคารปลากระ เบน กังหันลมเกาะล้าน ท่าเทียบเรือ-ที่จอดรถพัทยาใต้ น้ำพุเต้นระบำท่าเรือพัทยาใต้ โครงการก่อสร้างห้องน้ำสาธารณะท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย โครงการปรับภูมิทัศน์ชายหาดพัทยา ที่ยังไม่ทันเริ่มโครงการก็ต้องชะงักเพราะถูกคัดค้านจากประชาชนหรือกลุ่มอนุรักษ์ เป็นต้น