+ชุมชนสิ่งแวดล้อม

รับบิชคอมมอบตัวอย่าง ‘กล่องพลาสต์พืช’ ต่อยอดนวัตกรรมรักษ์โลก

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.63 น.ส.สุภาดา วงศ์ซิ้ม ประธานองค์กรสื่อสารด้านการขยะ Rubbish Communication เปิดเผยว่าได้เข้าหารือพูดคุย กับนายสุธีร์ ทับหนองฮี ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมเมืองพัทยา พร้อมนำนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวอย่างกล่องกระดาษที่มีส่วนผสมส่วนใหญ่มาจากข้าวโพด และตัวอย่างผลิตภัณฑ์ถุงพลาสต์พืชที่ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาใหม่ตามความเหมาะสมของการใช้งานทดแทนถุงพลาสติกในรูปแบบต่างๆ มามอบให้ พร้อมกับรายงานถึงความคืบหน้าของการดำเนินการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์อนุรักษ์ธรรมชาติ เนื่องด้วยผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมเมืองพัทยาถือได้ว่าเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนแนวทางขององค์กรฯ เป็นอันดับต้นๆ ตลอดระยะเวลาที่องค์กรได้ดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่เมืองพัทยา

ประธานองค์กรสื่อสารด้านการขยะ Rubbish Communication กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่นำมาใช้ทดแทนพลาสติกได้อย่างมีความคืบหน้าไปมาก ล่าสุดสามารถผลิตผลิตภัณฑ์กล่องพลาสต์พืชสำหรับทำกล่องประเภทต่างๆ ซึ่งมีส่วนผสมส่วนใหญ่มาจากข้าวโพด ที่สามารถคิดค้นสูตรผสมใหม่ที่ขึ้นรูปได้อย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยมีการนำส่วนผสมจากเครื่องทดลองต้นแบบขนาดเล็ก ก่อนนำวัตถุดิบไปว่างจ้างโรงงานกระดาษจนมีผลออกมาอย่างที่เห็น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพัฒนาที่สามารถช่วยแก้ปัญหาของประเทศในเรื่องของฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่ภาคเหนือ และสามารถเพิ่มช่องทางสร้างรายได้เพิ่มในครัวเรือนให้กับครอบครัวเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดได้อีกทางหนึ่งด้วย

เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเครือข่ายองค์กรฯ คือการพัฒานนวัตกรรมใหม่ ด้วยวัตถุดิบที่ดียิ่งขึ้นเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกหรือเทียบเท่ากับพลาสติกต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ จากการสำรวจและเก็บข้อมูลพบว่าเมืองพัทยาได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬาในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองท่องเที่ยว และสร้างความสนใจให้มีการเดินทางออกมาท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละกิจกรรมนั้นจะสร้างขยะมูลฝอยเป็นจำนวนมาก การทำงานของเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อมเมืองพัทยาถือว่ามีประสิทธิภาพเป็นอย่างมากในเรื่องของการจัดเก็บขยะมูลฝอยหลังเสร็จสิ้นในแต่ละกิจกรรม

ทั้งนี้ น.ส.สุภาดา ประธานองค์กรสื่อสารด้านการขยะ Rubbish Communication กล่าวด้วยว่า ทางองค์กรฯ ได้มีการวิเคราะห์และเก็บรวบรวมเป็นฐานข้อมูลในกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เมืองพัทยา พบว่าจะมีการจัดกิจกรรมบริเวณริมชายหาด ประกอบด้วย เทศกาลแสดงพลุไฟเมืองพัทยา งานเดินวิ่งชายหาดสโมสรโรตารี่ เทศกาลดนตรีพัทยามิวสิคเฟสติวัล เทศกาลเคาต์ดาวน์พัทยา รวมระยะเวลาการจัดกิจกรรมประมาณ 7 วัน ประเมินปริมาณผู้เข้าร่วมงานอย่างต่ำกว่า 4 หมื่นคน หนึ่งคนสร้างขยะ 150 กรัมต่อคนในการร่วมงาน รวมปริมาณขยะที่ต้องจัดเก็บได้มากกว่า 7-8 ตัน

ในส่วนของงานที่ไม่ได้จัดขึ้นบริเวณริมชายหาดแต่ใช้ระยะเวลาจัดที่นานมากขึ้น อาทิ งานเดินกินถิ่นนาเกลือ ที่จัดตั้งแต่ประมาณกลางเดือนธันวาคม 63 ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 64 รวมแล้วมีการจัดงานทั้งสิ้น 24 วัน คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกว่า 1.2 แสนคน ซึ่งจะสร้างขยะรวมทั้งสิ้นกว่า 18 ตัน สำหรับงานนี้ แต่ทางองค์กรฯ ได้ร่วมกับชาวบ้านนาเกลือ รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวท้องถิ่นโดยชุมชนบ้านนาเกลือ ร่วมลดปริมาณขยะพลาสติดที่ใช้ในงาน โดยนำเอาพลาสต์พืชมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ให้บริการนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานแทน ซึ่งเชื่อว่าจะลดปริมาณขยะในกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ อันเป็นอีกแรกหนึ่งที่ช่วยเสริมแรงของเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อมเมืองพัทยาเพื่อให้การจัดการขยะในเมืองพัทยามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ด้าน นายสุธีร์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมเมืองพัทยา กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเมืองพัทยาที่ได้รับความสนใจจากองค์กรกุศลภาคเอกชน ซึ่งองค์กรสื่อสารด้านการขยะ Rubbish Communication ก็ได้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมร่วมกับทางสำนักสิ่งแวดล้อมและเมืองพัทยาด้วยดีมาโดยตลอด หวังว่าจะมีการเติบโตยิ่งขึ้นต่อ ๆ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งหลังจากนี้สำนักสิ่งแวดล้อมเมืองพัทยาก็จะได้มีการกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งจะมีการประสานงานร่วมกับองค์กรฯ ในการ่วมกันส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ลดโลกร้อนต่อไปด้วย สำหรับนวัตกรรมกล่องข้าวโพดที่ทางองค์กรฯ ได้คิดค้นขึ้นมาใหม่นั้นถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์เป็นอย่างมาก ซึ่งในอนาคตต้องมีการส่งเริมให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลายเป็นที่รู้จักต่อไป