ยืดเยื้อ! ลุยตรวจสอบสภาพ “คลองนกยาง” อีกระลอก พบสิ่งก่อสร้างรุกล้ำปิดทางน้ำอีกอื้อ

            จากกรณีที่เมืองพัทยาประสบปัญหาน้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาการอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำที่เดิมเป็นพื้นที่รองรับน้ำ แต่ปัจจุบันกลับมีการจัดสรรที่ดินเพื่อทำประโยชน์ จนทำให้แนวลำคลองสาธารณะ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผันน้ำลงสู่ทะเล มีสภาพคับแคบ และตื้นเขินจากปัญหาการบุกรุกก่อสร้างอาคารสร้างที่พักอาศัยและสถานประกอบการ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณคลองนกยาง ซึ่งถือเป็นจุดรับน้ำที่สำคัญและมีผลต่อระบบการระบายน้ำของคลองนาเกลือ มีความยาว รวมระยะ 1.2 กิโลเมตร ที่ผ่านมา เมืองพัทยา ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ก็ยังไม่สำเร็จเป็นรูปธรรม

                ต่อมาเมื่อวันที่ 18 พ.ย. นายสุธรรม เพ็ชรเกตุ รองปลัดเมืองพัทยา รักษาราชการแทนปลัดเมืองพัทยา ได้นำเจ้าหน้าที่สำนักการช่างเมืองพัทยา เจ้าหน้าที่สำนักช่างสุขาภิบาลเมืองพัทยา และกลุ่มงานกฎหมาย เดินทางไปตรวจสภาพคลองนกยาง พร้อมติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการรื้อถอนอาคารรุกล้ำแนวคลอง ตั้งแต่บริเวณต้นน้ำด้านหลังวิทยาลัยเทคนิคพัทยาไปจนถึงบริเวณด้านหลังร้านอาหารมุมอร่อย

            นายสุธรรม รองปลัดเมืองพัทยา รักษาราชการแทนปลัดเมืองพัทยา กล่าวว่า การสำรวจคลองนกยางในครั้งนี้ ตั้งแต่บริเวณจุดวิยาลัยเทคนิคพัทยาจนถึงด้านหลังศูนย์โตโยต้า พบมีการก่อสร้างรุกล้ำคลองสาธารณะไม่มากนัก แต่พื้ที่บริเวณดังกล่าวมีสภาพคลองที่ตื้นเขิน ทำให้การระบายน้ำไหลไม่สะดวกนัก ทั้งนี้ในช่วง้ดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม 2563 จะให้เจ้าหน้าที่มาขุดลอกคลองบริเวณต้นน้ำ เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ ยังพบว่าศูนย์โตต้ามีการก่อสร้างสะพานเชื่อมที่ดินข้างทางน้ำไหล เมืองพัทยาจะให้เจ้าหน้าที่รื้อถอนตัวสะพานออกไป

            ส่วนบริเวณคลองนกยาง ด้านหลังอำเภอบางละมุงจนถึงร้านอาหารมุมอร่อย แยกไปคลองนาเกลือนั้น ที่ผ่านมา ผลการสำรวจพบว่าปัจจุบันแนวคลองนกยางมีอาคารบุกรุกจำนวน 150 หลัง แบ่งเป็นบ้านพักอาศัย-ร้านค้า จำนวน 130 หลัง และห้องเช่า 20 ราย ปัจจุบัน มีสภาพที่ดีขึ้นประชาชนที่พักอาศัยอยู่บริเวณนี้ไม่มีการทิ้งขยะลงคลอง ทำให้คลองมีความสะอาดมากขึ้น ส่วนบริเวณสภาพคลองนกยางจากจุดร้านอาหารมุมอร่อยไปถึงบ้านสุขาวดีนั้น พบมีสิ่งปลุกสร้างรุกล้ำแนวคลองเป็นจำนวนมาก ขณะนี้เมืองพัทยาอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข เพื่อเปิดแนวทางระบายน้ำลงสู่ทะเล

            นายสุธรรม กล่าวต่ออีกว่า ในอนาคตหากมีการเอาพื้นที่คลองนกยางกลับคืนมาได้ ก็จะมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณคลองให้เป็นสวนสาธารณะ ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ร่วมกัน โดยจะมีการนำแผนพัฒนาคลองลาดพร้าวมาเป็นรูปแบบการดำเนินการกับคลองนกยางต่อไป