+ชุมชนพัฒนาสังคม

เรือนจำพิเศษพัทยา เปิดเรือนจำชั่วคราว “ทัพพระยา” ฝึกอาชีพเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยผู้ต้องขัง

ที่เรือนจำพิเศษพัทยา (15 ต.ค.63) นายมานพ ชมชื่น ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษพัทยา เป็นประธานในพิธียกป้ายเรือนจำชั่วคราวทัพพระยา โดยนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 5 รูป เจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมทำพิธียกป้าย ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงานคับคั่ง

สืบเนื่องจาก เรือนจำพิเศษพัทยา ได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เป็นต้นมา ในปัจจุบันมีผู้ต้องขังอยู่ในความควบคุมประมาณ 3,800 – 4,000 คน ซึ่งศักยภาพของเรือนจำพิเศษพัทยา สามารถรองรับความจุผู้ต้องขังได้เพียง 3,000 คน จึงอาจส่งผลกระทบกับการบริหารงานเรือนจำ การดูแลปฏิบัติต่อผู้ต้องขังไม่ทั่วถึง ยังผลทำให้ผู้ต้องขังกลับมากระทำผิดซ้ำได้อีก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของกรมราชทัณฑ์

ปัจจุบัน เรือนจำพิเศษพัทยา มีพื้นที่ทั้งสิ้น 47 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ภายใน ที่ใช้สำหรับควบคุมผู้ต้องขังจำนวน 23 ไร่ 3 งาน 71 ตารางวา และมีพื้นที่ว่างเปล่ารอบ ๆ กำแพงโปร่งภายนอกเรือนจำ จำนวน 7 ไร่ 3 งาน 16 ตารางวา เป็นพื้นที่บ้านพัก ที่ทำการ ลานจอดรถ จำนวน 15 ไร่ 1 งาน 13 ตารางวา ผู้บริหารเรือนจำพิเศษพัทยา จึงเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว อีกทั้งเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง และเพื่อให้เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย และพัฒนาฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ต้องขังตามความเหมาะสม จึงได้มีแนวความคิดในการจัดตั้งเรือนจำชั่วคราวขึ้น ในพื้นที่ว่างเปล่าบริเวณภายในกำแพงโปร่งภายนอกเรือนจำ เนื้อที่จำนวน 2 ไร่ 20 ตารางวา เพื่อเป็นพื้นที่ดำเนินการควบคุมผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติอยู่ในเกณฑ์ได้รับอนุญาตให้จ่ายออกทำงานภายนอกเรือนจำ งานสาธารณะ และงานสถานประกอบการ ที่ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยแล้ว มาควบคุมในเรือนจำชั่วคราว เพื่อลดปัญหาความแออัดและลดปัญหาสุขภาวะภายในเรือนจำ และดำเนินการอบรมฝึกวิชาชีพ แก่ผู้ต้องขังดังกล่าวในภาคอุตสาหกรรม

เนื่องจากเรือนจำพิเศษพัทยา ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดชลบุรี มีโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก อาจรองรับการมีงานทำของผู้ต้องขังได้ หากเมื่อผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ และดำเนินการอบรมฝึกวิชาชีพในภาคเกษตรกรรม เพื่อให้เป็นพื้นฐานอาชีพควบคู่กันไป โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ในพื้นที่ขนาดเล็ก ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการพัฒนาผู้ต้องขัง อีกทั้งให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เผยแพร่ให้กับผู้ที่สนใจมาศึกษา ยังผลให้ผู้ต้องขังไม่กลับมากระทำผิดซ้ำอีก