+บริหารท้องถิ่น

สภาเมืองพัทยา ไฟเขียวงบกว่า 934ล้านบาท สร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยชุมชน บนเกาะล้าน

ที่ ห้องประชุมสภาเมืองพัทยา ได้มีการจัดประชุมสภาเมืองพัทยา สมัยสามัญ สมัยที่สองครั้งที่ 1 ประจำปี 2563 โดยมี นายอนันต์ อังคณาวิศัลย์ ประธานสภาเมืองพัทยา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ฝ่ายบริหาร คณะสมาชิกสภาเมืองพัทยา หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง โดยการประชุมในครั้งนี้ได้มีการจัดที่นั่งประชุมแบบเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ฝ่ายบริหาร ได้นำเสนอญัตติ เรื่อง ขอรับความเห็นชอบก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายเกินกว่าหนึ่งปีงบประมาณ

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เห็นชอบข้อเสนอโครงการการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ด้วยวิธีเผาทำลายบนพื้นที่เกาะล้านแบบครบวงจร ซึ่งเป็นมอบหมายให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีเผาทำลายและดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยมีระยะเวลา 25 ปี โดยเมืองพัทยาเป็นผู้จ่ายค่ากำจัดมูลฝอยในอัตราตันละ 1,900 บาท ซึ่งจากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กำหนดค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนทางการเงินของโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยชุมชนด้วยวิธีเผาทำลายบนพื้นที่เกาะล้านแบบครบวงจรสำหรับอัตราค่ากำจัดขยะมูลฝอยตันละ 1,900 บาท และปรับขึ้น 10 % ทุก 5 ปี โดยต้องก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายเกินกว่าหนึ่งปีงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2564-2588 รวม 25 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 934,557,370 บาท (เก้าร้อยสามสิบสี่ล้านห้าแสนห้าหมื่นเจ็ดพันสามร้อยเจ็ดสิบบาท)

ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการมูลฝอยบนพื้นที่เกาะล้านเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงมหาไทย จึงมีความประสงค์ขอรับความเห็นชอบจากสภาเมืองพัทยาในการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายเกินกว่าหนึ่งปีงบประมาณ ซึ่งอาศัยอำนาจตามข้อบัญญัติเมืองพัทยา เรื่องวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2545 การก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายเกินกว่าหนึ่งปี งบประมาณจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภา และเมื่อมีรายได้ตามงบประมาณแล้วจึงจะจ่ายได้

นายสินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร สมาชิกสภาเมืองพัทยา กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาขยะบนเกาะล้านนั้นทางสมาชิกสภาเมืองพัทยาได้มีการติดตามปัญหานี้มาอย่างยาวนานในการแก้ไขปัญหาขยะที่มีการสะสมกันมา จนส่งผลกะรทบต่อการท่องเที่ยว โดยประเด็นที่ฝ่ายบริหารได้มีการให้พิจารณานั้นด้วยความกังวลในเรื่องของการงบประมาณผูกพันที่มีระยะเวลานานถึง 25 ปี ทำให้เกิดความกังวลในการใช้งบประมาณและแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะเกาะล้าน โดยได้มีการตั้งข้อสอบถาม 2 ข้อ คือ 1. จากผลการศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นั้นราคาที่กำหนด 1,900 บาท ต่อปริมาณขยะ 14,600 ตัน ในช่วง 3 ปีแรก หลังมีการกำจัดขยะเก่าออกไปแล้ว ซึ่งปริมาณขยะ 14,600 ตัน เฉลี่ยวันละ 40 ตันต่อวัน ทั้งนี้จาการที่ทางสภาเมืองพัทยาได้ลงพื้นที่และมีการติดตามปัญหาขยะบนเกาะล้านมาโดยตลอดปริมาณขยะบนเกาะล้านเฉลี่ย 20-40 ตันต่อวัน แต่ด้วยผลการศึกษานำมาเป็นหลักในการคิด เพื่อจัดสรรงบประมาณผูกพันบนพื้ฐาน 40 ตัน ทั้งนี้หากในกรณีที่ปริมาณขยะไม่ถึง 40 ตัน ต่อวันแต่อยู่ที่ 20 ตันต่อวัน จะมีวิธีการคิดค่ากำจัดขยะมูลฝอยอย่างไร หรือหากมีปริมาณขยะเกิน 40 ตันต่อวัน จะมีวิธีคิดค่ากำจัดขยะมูลฝอย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งเมืองพัทยาและผู้จับจ้าง

ประเด็นที่ 2.ระบบที่ใช้ในการกำจัดขยะมูลฝอยบนเกาะล้านนั้น ระบบที่ใช้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายหรือไม่ และมีบริษัทที่ดำเนินการหลายบริษัทหรือไม่ และเป็นระบบแก๊สซิฟิเคชั่นใช่หรือไม่

ด้านนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้ตอบขอซักถามของสมาชิกสภา ว่า การใช้งบประมาณในแต่ละปีนั้นจะใช้งบประมาณตามปริมาณขยะมูลฝอยที่นำมากำจัดในแต่ละวัน ส่วนการทำสัญญาระยะยาวนั้นเ เพื่อให้มีความมั่นคงต่อการลงทุน ทั้งนี้หากในอนาคตมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอย ทางเมืองพัทยาสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาการดำเนินการได้ตามกฎหมายรองรับ ซึ่งระบบที่นำมาใช้กำจัดขยะมูลฝอยบนพื้นที่เกาะล้านนั้นเป็นระบบแก๊สซิฟิเคชั่น ที่มีการใช้แพร่หลายทั่วโลกและมีบริษัทหลายบริษัทที่ดำเนินการ ซึ่งการดำเนินการภายใต้การควบคุมตามข้อกฎหมายของกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของไทย

ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มสัญญาก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ด้วยวิธีเผาทำลายบนพื้นที่เกาะล้านแบบครบวงจร ได้ในเดือนตุลาคม 2563 และจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 6 เดือน จึงจะแล้วเสร็จและพร้อมจะกำจัดขยะได้ในช่วงเดือนเมษายน 2564 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการร่าขอเสวนอให้ภาคเอกชนมาลงทุน เพื่อให้การคัดเลือกเป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย