+ช่าวในพระราชสำนัก

องคมนตรีติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดระนอง

เมื่อวันพุธที่ 23 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 น. ณ อาคารประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลลำเลียง ตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ร่วมประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยธารสะอาดพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง โดยรับฟังสรุปผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ จังหวัดระนองที่ยังติดปัญหารวมถึงโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยธารสะอาดพร้อมระบบส่งน้ำฯ จากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การนี้องคมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะการดำเนินงานโดยกำหนดเป้าหมายของการทำงาน มีการบูรณาการทุกภาคส่วนในการทำงาน มีการตรวจสอบโครงการฯ ว่ายังใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ และขอให้ทุกหน่วยใช้งบประมาณให้เกิดเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยธารสะอาดพร้อมระบบส่งน้ำ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร

ดังนั้นเพื่อให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนครอบคลุมตามที่ราษฎรขอพระราชทาน กรมชลประทานจึงกำหนดแนวทางในการให้ความช่วยเหลือโดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยธารสะอาดฯ ซ่อมแซมฝายห้วยเคียนพร้อมระบบส่งน้ำ และการดูแลรักษาอาคารอัดน้ำบ้านห้วยไทรเหนือพร้อมระบบส่งน้ำ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการโดยคาดว่าจะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กปร. ในปีงบประมาณ 2566 ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยธารสะอาดฯ และเมื่อการดำเนินงานแล้วเสร็จ ราษฎรจำนวน 1,570คน 764 ครัวเรือน จะมีน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภคและทำเกษตรได้อย่างเพียงพอตลอดปี จากนั้น องคมนตรี ได้พบปะราษฎรในพื้นที่ ก่อนจะเดินทางไปเยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ

จากนั้นเวลา 14.00 น. องคมนตรีและคณะ เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานโครงการอาคารอัดน้ำบ้านเนินทองพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง โดยได้เยี่ยมชมพื้นที่โครงการฯ พร้อมพบปะราษฎรในพื้นที่ สำหรับโครงการดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรในฤดูแล้ง

อีกทั้งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามผลการดำเนินงานของโรงเรียนบ้านในวง บ้านผาพิง หมู่ที่ 1 ตำบลในวงเหนือ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 ให้กรมชลประทานและสำนักงาน กปร. ร่วมกันพิจารณาจัดหาน้ำเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนบ้านในวงที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง และเมื่อวันที่ 18พฤษภาคม 2561 ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามผลการดำเนินงานของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเทคนิคมีนบุรีอนุสรณ์1 บ้านบางเตา หมู่ที่ 10 ตำบลบางสวรรค์ อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในการนี้ ได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรงเรียนบ้านในวง ให้กรมชลประทาน และสำนักงาน กปร. ร่วมกันพิจารณาติดตั้งระบบกระจายน้ำภายในโรงเรียนให้กับโรงเรียนบ้านในวง เพื่อให้สามารถใช้น้ำเพื่อการอุปโภคและการเกษตรได้อย่างทั่วถึง ปัจจุบันนอกจากจะส่งน้ำช่วยเหลือราษฎรบ้านผาพิง หมู่ที่ 1 ตำบลในวงเหนือ บ้านเนินทอง หมู่ที่ 2 และบ้านทับเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลในวงใต้ รวม 140 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูฝน ประมาณ 1,200 ไร่ ฤดูแล้ง 500 ไร่แล้ว ยังสนับสนุนน้ำให้แก่โรงเรียนบ้านในวง เพื่อการอุปโภคบริโภค รวมทั้งโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน และกิจกรรมต่าง ๆ และยังส่งน้ำช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่บ้านผาพิง หมู่ที่ 1 ตำบลในวงเหนือเพิ่มอีก จำนวนประมาณ 30 ครัวเรือน ให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ คณะทำงานต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีมติในการต่อยอดโครงการดังกล่าวเพื่อสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยกำหนด กิจกรรมจัดทำฝายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองให้ราษฎร และสัตว์ป่า อีกทั้งเป็นการรักษาระบบนิเวศของป่าต้นน้ำ และป้องกันตะกอนทรายที่จะไหลลงมาอีกด้วย และยังมีกิจกรรมเกษตรครบวงจรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ด้านการเกษตรแบบครบวงจรสามารถจัดสรรที่ดินให้มีประสิทธิภาพรวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ เป็นการช่วยลดรายจ่าย สร้างรายได้ บรรเทาปัญหาการว่างงาน และลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน ต่อไป