+Kasetเศรษฐกิจ

โควิดป่วนส่งออกทุเรียนไทย หลังจีนสั่งปิดเมืองสกัดการระบาดซ้ำ บวกผลผลิตปีนี้เพิ่มกว่าแสนตัน หวั่นเกิดภาวะล้นตลาด

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจพิชแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และตรวจติดตามการทำงานของศูนย์ X-RAY กรมวิชาการเกษตร-กรมศุลกากร และการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันการนำสินค้าเกษตร-ผลไม้ ที่ได้รับอนุญาต เข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากปีที่ผ่านมา (2564) พบมีการลักลอบนำทุเรียนจากเวียดนามเข้ามาสวมสิทธิ์เป็นทุเรียนไทย แล้วส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า ผลผลิตทุเรียนในภาคตะวันออก โดยเฉพาะที่ จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกใหญ่ พบปีนี้(2565) มีผลผลิตออกมากถึง 740,000 ตัน จากเดิมราว 600,000 กว่า ตัน มากขึ้นกว่าทุกปี ราวกว่า 100,000 ตัน และอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยร้อยละ 80 จะส่งออกไปยังประเทศจีน ซึ่งตอนนี้ในประเทศจีน มีการปิดเมืองเพื่อป้องกันการระบาดของ โควิด-19 อีกรอบ อย่างเช่น เฉินตู ปักกิ่ง ฯลฯ จะส่งผลให้สินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศจีนตกค้างเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา มีความพยายามทดสอบส่งทุเรียนแช่แข็งไปทางเรือ พบว่า มีสินค้าตกค้างอยู่มากกว่า 1,000 ตู้

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า แนวทางแก้ไขปัญหาทุเรียนล้นตลาด จะจับมือกับภาคีเครือข่ายส่งเสริมให้จัดตลาดนัดการเกษตรเพื่อทำให้คนไทยได้หันมาบริโภคทุเรียนในราคาที่เป็นธรรม และเป็นการระบายผลผลิตของเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งการส่งเสริมในรอบนี้จะต้องทำเป็นวาระแห่งชาติและเน้นย้ำให้ข้าราชการช่วยกันบริโภคทุเรียนในทุกมิติ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ปัญหาทุเรียนอ่อนเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ซึ่งส่งผลต่อชื่อเสียงแต่ยังไม่รุนแรงเท่าสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่มาตรฐานผลผลิตของเกษตรกรปีนี้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ทุกล้งให้ความร่วมมือขึ้นป้ายประกาศไม่รับซื้อทุเรียนอ่อน หรือทุเรียนตกเกรด

อีกปัญหาที่น่าเป็นห่วงตอนนี้คือ มีทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ซึ่งมีผลผลิตไม่น้อยกว่าประเทศไทย จะทะลักข้ามแดนเข้ามา เนื่องจากไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศจีนได้ เพราะในปีนี้ประเทศจีนอนุมัติ ให้ส่งผลทุเรียนสดเฉพาะทุเรียนที่มาจากประเทศไทยเท่านั้น จึงเสี่ยงต่อการที่จะเกิดการสวมสิทธิ์ส่งทุเรียนไปยังปลายทาง