+EECtransportationเศรษฐกิจ

กทท.จัดประชาพิจารณ์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แผนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ท่าเทียบเรือเอฟ นัดแรก

ที่อาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนบ้านบางละมุง ต.บางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี (29 ม.ค.2565) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ต่อโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือเอฟ โดยเฉพาะการนำเสนอผลการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง โดยมีตัวแทนจาก บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการศึกษาเข้าร่วมบรรยายสรุป และนายจรัญ ประกอบธรรม นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย เป็นประธานเปิดงาน ท่ามกลางประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย และกลุ่มประมง รวมทั้งตัวแทน NGO เข้าร่วม

นางรังษิยา กมลพนัส ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท เอเชีย แล็ป แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือและระบบโครงข่ายขนส่งต่อเนื่องที่จะต่อเชื่อมกับภายนอกให้เพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของปริมาณสินค้าทางเรือ และการขนส่งสินค้าประเภทต่างๆได้อย่างทันท่วงที ไม่ให้ประสบปัญหาด้านความแออัดและกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเรือเอฟนั้น เป็นโครงการที่ กทท.เปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมในการพัฒนาในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนหรือ PPP ซึ่งมีระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี สำหรับพัฒนาท่าเทียบเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ บนพื้นที่ประมาณ 690 ไร่ มีความยาวหน้าท่าเทียบเรือ 1,000 เมตร มีพื้นที่หน้าท่ากว้าง 34.5 เมตร สามารถรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้กว่า 4 ล้านทีอียูต่อปี และสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาด 1.7 แสนเดเวทตัน หรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ได้ 15,000 ตู้

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวอาจมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยรอบ ซึ่งได้กำหนดพื้นที่การศึกษาของโครงการครอบคลุมรัศมี 5 กม. ครอบคลุมพื้นที่ 22 ชุมชน จาก 4 ตำบลใน 2 อำเภอของหวัดชลบุรี ได้แก่ ศรีราชา และบางละมุง จึงได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวขึ้นเพื่อให้ข้อมูลกับผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ศึกษา

รวมทั้งให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงรายละเอียดของโครงการ ผลการสำรวจและศึกษาแนวทาง การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชน ก่อนจะรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อรวบรวมนำไปแก้ไขปรับปรุง ก่อนกำหนดเป็นมาตรการเพื่อนำกลับมาจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งที่ 2 และ 3

ทั้งนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จเป็นร่างที่สมบูรณ์ภาย ในเดือนพฤศจิกายนนี้ จากนั้นจะได้นำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอเรื่องต่อรัฐบาลเพื่อจัดทำโครงการต่อไป.
อธิบดี บุญชารี รายงาน