+ท่องเที่ยวเศรษฐกิจ

ภาคธุรกิจพัทยาซัดนิ่มๆ ข้อมูลภาครัฐไม่สอดคล้องข้อเท็จจริง จี้“รมว.พิพัฒน์”เร่งแก้ปัญหาให้ตรงจุด

ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี (28 ธ.ค.) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย นายปรเมศร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และคณะ ร่วมพบปะตัวแทนจากภาครัฐ-เอกชน เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การท่องเที่ยวของเมืองพัทยา โดยมี นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคธุรกิจท่องเที่ยวร่วมให้การต้อนรับ

ในการนี้ได้มีการบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวในภาพรวมจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งระบุว่าจากสถิติที่ผ่านมา เมืองพัทยามียอดจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 18 ล้านคน โดยแยกออกเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 10 ล้านคน และคนไทยจำนวน 8 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 2.64 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่ามีอัตราส่วนการขยายตัวและเติบโตขึ้นกว่า 10% ซึ่งนักท่องเที่ยวในกลุ่มตลาดหลัก ได้แก่จีน,รัสเซีย, อินเดีย และกลุ่มตะวันออกกลางเป็นหลัก

ขณะที่ นายธเนศ ศุภรสหัสรังษี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี ในฐานะสมาชิกสภาเมืองพัทยา นำเสนอข้อมูลว่าจากสถิติที่หน่วยงานภาครัฐได้ชี้แจงนั้นพบว่าเป็นสถิติที่ไม่สอดคล้องสถานการณ์จริง ทำให้ภาครัฐมองไม่เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและไม่มีมาตรการในการสนับสนุนงบประมาณมากนัก ซึ่งก็ไม่ทราบว่าหน่วยงานเหล่านี้มีวิธีการจัดเก็บข้อมูลอย่างไร ด้วยปัจจุบันผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวทุกภาคส่วนพบว่ามีปริมาณนักท่องเที่ยวลดลงกว่า 50% ซึ่งถือว่าตกต่ำที่สุดในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในอดีตที่ผ่านมา ทั้งนี้ปัญหาหลักๆ น่าจะเกิดจากน่าจะเกิดจากเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งตัวมากขึ้น หรือโตขึ้นกว่า 20 % ทำให้กลุ่มตลาดหลักเดิมของเมืองพัทยาเริ่มหนีหายไปยังกลุ่มการท่องเที่ยวใหม่ๆอย่าง เวียดนาม กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งมีอัตราการจับจ่ายที่ถูกกว่าบ้านเราขณะที่ภาครัฐในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ก็มีมาตรการและสนับสนุนส่งเสริมด้านการตลาดและท่องเที่ยวอย่างจริงจังมาเสริม ซึ่งกรณีนี้ภาครัฐควรให้ความสำคัญและเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและมาเสริมแทน อาทิโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” ครั้งแรกที่พบว่าสามารถดึงกลุ่มตลาดภายในประ เทศเข้ามาพยุงสถานการณ์และแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี แต่โครงการในครั้งที่ 2 นั้นพบว่าไม่ได้รับการตอบรับมากนัก ซึ่งคงเป็นเรื่องต้องพิจารณาเงื่อนไขและวิธีการใหม่

ด้านนายเอกสิทธิ์ งามพิเชษฐ์ นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา กล่าวว่าอีกปัญหาที่เกิดขึ้นและถือเป็นเรื่องสำคัญ ได้แก่ กรณีของโรงแรมเถื่อน ซึ่งจากข้อมูลพบว่าปัจจุบันในพื้นที่เมืองพัทยานั้น มีสถานประกอบการโรงแรมกว่า 2,700 แห่ง รวมห้องพักกว่า 1.2 แสนห้อง แต่มีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตเพียง 300 กว่าแห่งเท่านั้น ซึ่งแม้ที่ผ่านมา คสช.จะออกคำสั่ง ม.44 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการมาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขอาคารเพื่อให้เข้ามาอยู่ในกรอบของกฎ หมาย แต่ระยะเวลาที่ทางรัฐกำหนดไว้นั้นถือว่าสั้นเกินไป เนื่องจากการจะดำเนินการให้ถูกต้องในพื้นที่เมืองพัทยา มีกฎหมายที่เข้าข้องในการขออนุญาตในหลายภาคส่วน ทั้งกฎหมายผังเมือง สิ่งแวดล้อม หรือกฎหมายควบคุมอาคาร จึงทำให้เป็นช่องโหว่ในการดำเนินการที่ต้องใช้ระยะเวลานาน ขณะที่การเข้าตรวจสอบจับกุมยังทำอยู่อย่างต่อเนื่อง กรณีนี้ทำให้เกิดการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่โดยมีการจับจองซื้อ-เช่าอาคารคอนโดมิเนียมและห้องชุด เพื่อนำไปขายให้กับกลุ่มทัวร์ต่างชาติ ทำให้รัฐไม่ได้รับประโยชน์ในเรื่องของภาษี ผู้ประกอบการที่ถูกต้องมีสัดส่วนการเข้าพักน้อยลง และไม่มีการแจ้งตัวเลขเรื่องของจำนวนและรายชื่อนักท่องเที่ยวแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้รับข้อมูลที่ไม่ตรงต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงอยากให้มีการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องที่รวมเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาคอยรับเรื่องแบบ One Stop Service เพื่อความสะดวกในการประสานและดำเนินการให้ถูกต้อง รวดเร็วขึ้น

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้นำเสนอปัญหาอีกหลายหัวข้อ อาทิ การขอให้ภาครัฐหันมาสนใจและส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอย่างจริงจัง โดยเน้นการ Rebranding การส่งเสริมด้านการเป็นเมือง Sport city เต็มรูปแบบ การแก้ไขปัญหาระบบสาธารณูปโภค หรือขนส่งสาธารณะอย่างจริงจัง โดยคณะรัฐมนตรีได้รับเรื่องดังกล่าวไว้ก่อนจะไปพิจารณาตามคำร้องขอและหามาตรการสนับสนุนและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังต่อไป.