+บริหารท้องถิ่น

“บิ๊กแป๊ะ” เตือนกลุ่มบุคคลหยุดสร้างความสับสนให้ปชช.กรณีสร้างสะพานลอย- อุโมงค์พัทยาใต้-เทพประสิทธิ์ จ่อใช้กม.จัดการ

จากกรณีที่เมืองพัทยาได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสม สำรวจ ออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดถนนสุขุมวิทกับถนนพัทยาใต้ เมืองพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนและภาคธุรกิจผู้มีส่วนได้เสียไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา

โครงการดังกล่าวเป็นไปตามมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2559 ที่มีแนวคิดในการยกระดับการขนส่งในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ที่จะมีการลงทุนขนาดใหญ่จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่กลุ่มจังหวัด EEC ขณะที่การเดินทางเข้าสู่เมืองพัทยาปัจจุบันยังคงใช้ถนนสุขุมวิทเป็นถนนหลัก โดยมีช่วงบริเวณทางแยกสำคัญ 4 แห่ง ได้แก่ พัทยาเหนือ พัทยากลาง พัทยาใต้ และเทพประสิทธิ์ จนทำให้เกิดปัญหาการจราจรคับคั่งเฉลี่ยวันละ 75,000 คันต่อวัน ก่อให้เกิดความล่าช้าทำให้ประชาชนต้องเสียเวลาในการเดินทาง สูญเสียพลังงาน ด้านเศรษฐกิจ สังคม การลงทุน และบรรยากาศความเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวระดับโลก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาการจราจรและขนส่งให้มีความคล่องตัวมากขึ้น สอดคล้องและรองรับระบบขนส่งหลักจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ซึ่งเป็นการศึกษาเพิ่มเติมจากโครงการเก่าในการแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณ 4 ทางแยกบนถนนสุขุมวิท ที่เคยศึกษาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

และได้ออกแบบเบื้องต้นใน 3 รูปแบบ คือ 1.รูปแบบอุโมงค์ทางลอด (tunel) ซึ่งจะก่อสร้างเป็นรูปแบบอุโมงค์บนถนนสุขุมวิท ยาวเพื่อลอดใต้ผ่าน 2 ทางแยก คือ แยกพัทยาใต้และแยกเทพประสิทธิ์ แบ่งเป็น 4 ช่องจราจร ระยะทางยาวรวมกว่า 2 กม.2.รูปแบบสะพานยกระดับ (Over pass) ซึ่งก่อสร้างบนถนนสุขุมวิทขนาด 4 ช่องจราจรไปกลับ เพื่อข้ามแยกพัทยาใต้ซึ่งเป็นจุดตัดจากนั้นจึงลดระดับลงมาที่ระดับถนนจนเมื่อถึงทางแยกเทพประสิทธิ์จะก่อสร้างสะพานยกระดับอีก 1 สะพานเพื่อข้ามแยกเทพประสิทธิ์ และ 3.รูปแบบสะพานยกระดับและอุโมงค์ทางลอด (Over pass & tunel) โดยจะทำการก่อสร้างสะพานยกระดับบนถนนสุขุมวิทเพื่อข้ามจุดตัดทางแยกพัทยาใต้ก่อนจะลดระดับลงมาที่ระดับถนนนั้น

ทั้งนี้ นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่าปัจจุบันมีการนำโครงการดังกล่าวไปสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนและชุมชนพัทยาใต้-เทพประสิทธิ์ ว่าเมืองพัทยากำลังจัดจ้างผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการในการก่อสร้างสะพานหรืออุโมงค์ทางลอด โดยเรื่องนี้มองว่าเป็นการจงใจของกลุ่มบุคคลที่แฝงไวด้วยเรื่องการเมืองเพื่อสร้างความสับสนให้กับประชาชน เนื่องจากโครงการนี้เป็นการเพียงการ ศึกษาเพื่อวางแผนในการแก้ไขปัญหาการจราจรในอนาคตตามหลักวิชาการอย่างรอบคอบ ด้วยเมืองพัทยาถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวและการลงทุนของ EEC ปัจจัยด้านโลจิสติกส์และการจราจรจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากมีโครงการสำคัญอย่างรถไฟความเร็วสูงและการพัฒนาอีกหลายโครงการมาลง การจราจรจึงต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

การศึกษาโครงการได้กำหนดแนวทางการจัดสร้างไว้หลายรูปแบบ อย่างไรก็ตามทุกโครงการจำเป็นต้องมีการทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นจากภาคประชาชนและภาคธุรกิจว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร หรือจะมีการปรับแบบเพื่อให้เกิดความสมดุลและประโยชน์กับบ้านเมืองพัทยาอย่างสูงสุด เพียงแต่ช่วงเวลานี้เป็นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การจัดทำประชาพิจารณ์จึงต้องทำเป็นกลุ่มย่อยเพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อเท่านั้น และทุกครั้งก็จะมีการแจ้งประชาสัมพันธ์หรือการรับรู้ให้กับประชาชนถึงความสำคัญและรูปแบบที่ต้องการ ดังนั้นหากบุคคลกลุ่มใดนำกรณีดังกล่าวไปสร้างความเข้าใจที่ผิดและพยายามนำการเมืองมาแอบแฝงเพื่อสร้างความเสียหายให้กับเมืองพัทยา เรื่องนี้คงต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเด็ดขาดอย่างแน่นอน.