+EECเศรษฐกิจ

เมืองพัทยาจัดประชาพิจารณ์ทำทางแยกต่างระดับพัทยาใต้-เทพประสิทธิ์ หวังแก้ปัญหาจราจร รองรับ EEC

ที่โรงแรมไซมิส พัทยา จ.ชลบุรี (9 ก.ค.2564) นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เป็นประธานเปิดการประชุมประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 โครงการศึกษาความเหมาะสม สำรวจ ออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดถนนสุขุมวิทกับถนนพัทยาใต้ เมืองพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยมีตัวแทนจาก 3 บริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ หัวหน้าส่วนราชการ ประธานชุมชน และประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการเข้าร่วม

จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 เห็นชอบหลักการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) ให้เป็นเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนเพื่อส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต อย่างไรก็ตามจากการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชนจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดในพื้นที่ EEC การใช้ที่ดินมีความหนาแน่นขาดความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งงานกับที่อยู่อาศัย เช่น ระบบการจราจรและขนส่ง รวมทั้งระบบโลจิสติกส์ ซึ่งพบว่าปัจจุบันการเดินทางเข้าสู่เมืองพัทยาจะใช้ถนนสุขุมวิทเป็นหลัก ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของเมืองพัทยา โดยมีช่วงบริเวณทางแยกสำคัญ 4 แห่ง ได้แก่ พัทยาเหนือ พัทยากลาง พัทยาใต้ และเทพประสิทธิ์ ที่มีปัญหาการจราจรคับคั่งเฉลี่ยวันละ 75,000 คัน/วัน ทำให้เกิดการติดขัด มีความล่าช้าทำให้ต้องเสียเวลาในการเดินทาง สูญเสียพลังงาน ด้านเศรษฐกิจ สังคม การลงทุน และบรรยากาศความเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวระดับโลก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการพัฒนาการจราจรและขนส่งให้มีความคล่องตัวมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องและรองรับระบบขนส่งหลักจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ต่อ 3 สนามบินอีกด้วย เมืองพัทยาจึงต้องดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะ สม สำรวจ ออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดถนนสุขุมวิทกับถนนพัทยาใต้ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นการศึกษาเพิ่มเติมจากโครงการเก่าในการแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณ 4 ทางแยกบนถนนสุขุมวิท ที่เคยศึกษาไว้เมื่อปี พ.ศ.2556 ให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ทั้งนี้จากการสำรวจออกแบบเบื้องต้นของทางบริษัทที่ปรึกษาฯ ได้กำหนดไว้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.รูปแบบเป็นอุโมงค์ทางลอด (tunel) ซึ่งจะก่อสร้างเป็นรูปแบบอุโมงค์บนถนนสุขุมวิท ยาวเพื่อลอดใต้ผ่าน 2 ทางแยก คือแยกพัทยาใต้และแยกเทพประสิทธิ์ แบ่งเป็น 4 ช่องจราจร เป็น 2 ช่องสำหรับรถที่ต้องการไป กทม. และ 2 ช่องจราจรสำหรับรถที่มุ่งหน้าสู่อำเภอสัตหีบ ในระยะทางยาวรวมกว่า 2 กม. หรือ 2.รูปแบบสะพานยกระดับ (Over pass) ซึ่งจะทำการก่อสร้างบนถนนสุขุมวิทขนาด 4 ช่องจราจรไป-กลับ เพื่อข้ามแยกพัทยาใต้ซึ่งเป็นจุดตัดจาก นั้นจึงลดระดับลงมาที่ระดับถนน จนเมื่อถึงทางแยกเทพประสิทธิ์ก็จะก่อสร้างเป็นสะพานยกระดับอีก 1 สะพานเพื่อข้ามแยกเทพประสิทธิ์เช่นเดียวกัน และ 3.รูปแบบสะพานยกระดับและอุโมงค์ทางลอด (Over pass & tunel) โดยจะทำการก่อสร้างสะพานยกระดับบนถนนสุขุมวิทเพื่อข้ามจุดตัดทางแยกพัทยาใต้ก่อนจะลดระดับลงมาที่ระดับถนนเช่นเดียวกันทางเลือกที่ 2 จนถึงถนนเทพประสิทธิ์ก็จะจัดทำการก่อสร้างเป็นอุโมงค์ทางลอดในส่วนของถนนสุขุมวิทเพื่อลอดข้ามทางแยกให้รถสัญจรได้โดยสะดวกในลักษณะ 4 ช่องจราจรไป-กลับ โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนครั้งแรกและจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอีกตามที่กฎหมายกำหนด จากนั้นจึงจะมีพิจารณาคัดเลือกแนว ทางที่เหมาะสม ซึ่งต้องดูจากระบบวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อหาผลสรุปในการจัดทำโครงการก่อนจะเสนอต่อเมืองพัทยา ซึ่งใช้ระยะเวลาการศึกษาทั้งสิ้น 300 วัน ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564

ด้านนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่าโครงการนี้ถือเป็นโครงการสำคัญที่ต่อยอดจากโครงการเดิมที่เมืองพัทยาเคยทำการศึกษาไว้เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรของจุดตัดถนนพัทยาใต้และถนนเทพประสิทธิ์ ซึ่งปัจจุบันมีการจราจรที่หนาแน่นและคับคั่งมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญจะต้องดำเนินไว้เพื่อรองรับระบบการ จราจร ขนส่ง และระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่ EEC ในอนาคต ซึ่งจะมีการก่อสร้างโครงการสำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าความเร็วสูง และการลงทุนในหลายด้านที่จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจและการจราจรหนาแน่นมากยิ่งขึ้น สำหรับโครงการนี้เป็นการศึกษาเบื้องต้นที่จะมีการทำสะพานหรือทางลอดอุโมงค์ทางลอด ซึ่งเมืองพัทยาได้ดำเนินการมาแล้วอย่างโครงการแรกคือทางลอดอุโมงค์พัทยากลาง ที่เป็นจุดรับการเชื่อมต่อมาจากถนนสุขุมวิท ส่งผลให้แยกพัทยากลางการจราจรไม่ติดขัด ส่วนในแยกพัทยาใต้ก็เช่นเดียวกันแต่ด้วยเป็นพื้นที่ต่ำจึงได้มีการทำสำรวจทางอุโมงค์ทางลอดไว้ในเบื้องต้นเป็นระยะทางยาวประมาณ 2 กิโลเมตร แต่การจัดทำต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงมีการให้ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความสอดคล้องแก้ปัญหาได้และเกิดประโยชน์ ซึ่งเป็นไปตามแผนของ EEC ที่จะเห็นได้ว่ามีการจัดทำสะพานทางแยกหลายจุด ตั้งแต่ ศรีราชา อ่าวอุดม และตอนนี้ที่แยกอัยการทางไปสัตหีบ ซึ่งทั้งหมดจะเชื่อมโยงการเดินทางสู่สนามบินอู่ตะเภา ขณะที่การจัดทำโครงการจะสอดรับกับแผนที่เมืองพัทยาจะมีการพัฒนาท่าเรือแหลมบาลีฮายให้เป็นท่าจอดเรือสำราญในอนาคต นอกจากนี้โครงการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรแล้วยังจะเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณพัทยาใต้ไปในครั้งเดียวกันด้วย ทั้งนี้หลังจากที่มีการสำรวจและศึกษาจนครอบคลุมทุกด้าน รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเป็นที่เรียบ ร้อยแล้วว่าจะดำเนินการในรูปแบบใด เมืองพัทยาก็จะได้เสนอขอจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลาง ซึ่งอาจจะเป็นกรมทางหลวงชนบท เพื่อจัดทำโครงการอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งคาดว่าคงจะเริ่มได้ในปีงบประมาณ 2566 นี้.