+ช่าวในพระราชสำนัก

องคมนตรีติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ใน อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ

เมื่อวันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วย นายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อรับฟังรายงานผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การบริหารจัดการน้ำผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่จังหวัดศรีษะเกษ รวมถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบันในเขตพื้นที่ของสำนักงานชลประทานที่ 8 การบริหารจัดการน้ำ แผนการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์หากเกิดอุทกภัย

ทั้งนี้ องคมนตรี ได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานและการพัฒนาต่อยอดโครงการเพื่อขยายผลให้เกิดประโยชน์สู่ประชาชนได้อย่างกว้างขวางตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สืบไป

ในช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะฯ เดินทางไปยังศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ในการนี้ นายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการ กปร. รายงานแนวทางการดำเนินงานสนองพระราชดำริ

ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2537 เพื่อช่วยเหลือราษฎรในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ให้ดำเนินการในลักษณะเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ที่มีลักษณะเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต โดยการรวมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาปฏิบัติงานแบบบูรณาการร่วมกัน และขยายผลไปสู่ประชาชนให้สามารถพัฒนาอาชีพ และพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรสาขาต่างๆ แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการสร้างแหล่งอาหาร สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร รวมทั้งสามารถพัฒนาเกษตรกรเป็นต้นแบบขยายเครือข่ายในชุมชน ทำให้ประชาชนหมู่บ้านบริเวณรอบศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ และหมู่บ้านใกล้เคียง จำนวน 27 หมู่บ้านได้รับโอกาสการพัฒนา มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

โอกาสนี้องคมนตรี มอบปัจจัยการผลิตแก่ตัวแทนเกษตรกร และเยี่ยมชมนิทรรศการกิจกรรมต่าง ๆ ภายในศูนย์ฯ

จากนั้น องคมนตรีและคณะฯ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตึ๊กชูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลห้วยตึ๊กชู อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2537 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรหมู่บ้านต่าง ๆ ณ ที่ทำการกิ่งอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้พระราชทานพระราชดำริ สรุปความว่า

“…ควรเร่งเปิดโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตึ๊กชู ตำบลห้วยตึ๊กชู และก่อสร้างให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อแหล่งน้ำสนับสนุนโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตร บ้านตะแบง กิ่งอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ รวมทั้งช่วยเหลือราษฎรหมู่บ้านต่าง ๆ ทางด้านท้ายเขื่อนเก็บกักน้ำ และควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยตึ๊กชูด้วย…”

อ่างเก็บน้ำห้วยตื๊กชูฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2542 สามารถส่งน้ำให้ราษฎรสำหรับอุปโภคบริโภค และพื้นที่การเกษตร ในช่วงฤดูฝน 12,500 ไร่ และช่วงหน้าแล้ง 6,500 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลห้วยตึ๊กชู ตำบลโคกตาล ตำบลละลม และตำบลตะเคียนราม อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ให้สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างหลากหลายและต่อเนื่องตลอดปี

ต่อจากนั้น องคมนตรี เดินทางไปบ้านนางสมุทร มาจาด บ้านโคกสามัคคี หมู่ที่ 14 ตำบลห้วยตึ๊กชู อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบของศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ เดิมประกอบอาชีพที่กรุงเทพฯ และเมื่อปี 2552 มีความคิดจะกลับมาประกอบอาชีพที่บ้านกิด ประกอบกับสุขภาพไม่แข็งแรง ต่อมาได้เข้ารับการอบรมเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ และได้นำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมมาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองเริ่มจากการแบ่งพื้นที่ทำการเกษตรตามหลักเกษตรทฤษฏีใหม่ จากพื้นที่ทั้งหมด 12 ไร่ แบ่งทำนาข้าว 10 ไร่ ที่อยู่อาศัย 2 ไร่ และปลูกยางนาที่ได้รับจากศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ บริเวณริมรั้วของพื้นที่ จำนวน 30 ต้น ปลูกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ และพันธุ์น้ำหวานแปดริ้ว จำนวน 100 ต้น

ระยะแรกซื้อต้นพันธุ์จาก อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และอำเภอแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา ราคาต้นละ 50 บาท และ 100 บาท ปัจจุบันสามารถเพาะและขยายพันธุ์เองได้ นอกจากนี้ยังเลี้ยงโคและกระบือ โดยนำมูลไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงบำรุงดินซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิต ลดการใช้ปุ๋ยเคมี โดยมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน จากการขายผลผลิต เช่น มะพร้าว กล้วยหอม กล้วยไข่ และขายหน่อพันธุ์กล้วย เป็นต้น

Cr:กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานกปร.