วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
ช่าวในพระราชสำนัก

องคมนตรีประชุมคกก.อำนวยการโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่1/2565

กทม.(5 เม.ย.2565) เมื่อเวลา 14.00 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 1/2565 โดยมีนายลลิต ถนอมสิงห์ เลขาธิการ กปร. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กปร. พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ณ อาคารสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์

การประชุมในครั้งนี้ มีระเบียบวาระการประชุมเพื่อทราบ อาทิ การรายผลการดำเนินงานตามกรอบแผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2560-2564) จำนวน 5 ด้าน คือ ด้านการศึกษา วิจัย มีการนำหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์ได้อย่างครบถ้วน ทั้งในเรื่องการป้องกันปัญหาในพื้นที่ที่เกิดปัญหา หรือพื้นที่ทางการเกษตร รวมถึงการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อนำเทคนิค ความรู้ วิธีการ มาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติในพื้นที่ ด้านการจัดการองค์ความรู้ รวบรวมข้อมูลและจัดระบบองค์ความรู้หญ้าแฝกร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และจัดโครงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผู้ปฏิบัติงานโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกฯ ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ จำนวน 9 ครั้ง มีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 484 คน

ด้านการส่งเสริม ส่งเสริมการผลิตกล้าหญ้าแฝก การปลูกและการใช้ประโยชน์หญ้าแฝก รวมถึงการประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบนิเวศป่าไม้จากเหตุการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่บ้านต้นขนุน ตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร. ได้จัดทำระบบเว็บไซต์ 3 เว็บไซต์ ได้แก่ เว็บไซต์เครือข่ายหญ้าแฝกประเทศไทย (http://thvn.rdpb.go.th/) เว็บไซต์เครือข่ายหญ้าแฝกในประเทศบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก (http://prvn.rdpb.go.th/) เว็บไซต์การประชุมหญ้าแฝกนานาชาติ ครั้งที่ 7 (https://icv-7.com/) นอกจากนี้ยังได้จัดพิมพ์จุลสารภูมิวารินอนุรักษ์ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกฯ มาอย่างต่อเนื่องนำไปเผยแพร่ยังหน่วยงาน นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสถานศึกษาต่าง ๆ และด้านการบริหารจัดการ ดำเนินการจัดทำระบบบริหารและติดตามโครงการปลูกหญ้าแฝกในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ สามารถติดตามการดำเนินงานโครงการฯ ของหน่วยงานตนเองและหน่วยงานอื่นๆ ได้สะดวก รวดเร็ว และประชาชนทั่วไปสามารถสืบค้นการปลูกแฝกในพื้นที่ใกล้เคียงได้ รวมทั้งการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2566-2570) เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานโครงการฯให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2565 นี้

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณา การปรับปรุงคำสั่งคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการฯ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงมีการปรับเพิ่มและลดองค์ประกอบของคณะกรรมการและอนุกรรมการฯ จำนวน 3 ชุด ประกอบด้วย 1) คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพิ่มเติม นายสุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นที่ปรึกษา และรองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นรองประธานกรรมการ 2) คณะอนุกรรมการด้านวิชาการและติดตามประเมินผล มีนายณรงค์ โฉมเฉลา และนายธวัชชัย ณ นคร จากกรรมการ เป็นที่ปรึกษาแทน และ3) คณะอนุกรรมการด้านส่งเสริม ขยายผล เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ซึ่งเพิ่มที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการ สำนักงาน กปร. ผู้อำนวยศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่ง และผู้แทนสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นอนุกรรมการ

นอกจากนี้ยังได้พิจารณาเครือข่ายหญ้าแฝกนานาชาติได้ขอความร่วมมือในการจัดการประกวดวิดีโอสั้นเกี่ยวกับหญ้าแฝก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้หรือส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยใช้เทคโนโลยีที่ประหยัด ความยาว 2-7 นาที ส่งผลงานภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2565

การประกวดครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานหญ้าแฝกในรูปแบบใหม่ให้มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น เพื่อให้คนกลุ่มใหม่ ๆ ได้เข้ามาร่วมในการนำเสนอการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกอันจะส่งผลให้การขับเคลื่อนการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกในระดับนานาชาติเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและบทบาทของประเทศไทยในการสนับสนุนกิจกรรมของเครือข่ายภาคี ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณารางวัลที่มีทั้งสิ้นจำนวน 8 รางวัล

สำหรับการประกวดครั้งนี้ และยังได้พิจารณา เรื่องการเตรียมการจัดประชุมหญ้าแฝกนานาชาติ ครั้งที่ 7 (ICV-7) เกี่ยวกับห้วงเวลา รูปแบบ (Onsite, Online, Onsite ร่วมกับ Online) และสถานที่ที่เหมาะสมในการจัดการประชุม อีกด้วย.