+ชุมชนสิ่งแวดล้อม

‘เครือข่ายต้นไม้ฯ’ ถกร่วมเมืองพัทยา หาทางออกโครงการปรับภูมทัศน์ชายหาด

ที่ ศาลาว่าการเมืองพัทยา กลุ่มตัวแทนภาคประชาชนที่เห็นความสำคัญของต้นไม้ในเมือง ประกอบด้วย กลุ่มเครือข่ายต้นไม้ในเมือง กลุ่มบิ๊กทรี สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และสมาคมรุกขกรรมไทย นำโดย น.ส.ช่อผกา วิริยานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายต้นไม้ในเมือง และนายนำชัย แสนสุภา นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย ร่วมประชุมหารือแนวทางการดำเนินการปรับภูมิทัศน์ชายหาดพัทยา เพื่อร่วมหาทางออกในรักษาธรรมชาติบนชาติหาด โดยมีนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา พร้อมด้วย คณะผู้บริหารเมืองพัทยา เจ้าหน้าที่สำนักช่างเมืองพัทยา เจ้าหน้าสำนักสิ่งแวดล้อมเมืองพัทยา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนชุมชน เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง หลังจากนั้นทางคณะได้ร่วมเดินทางไปที่ชายหาด เพื่อดูสภาพความเป็นจริงของการดำเนินโครงการฯ

น.ส.ช่อผกา วิริยานนท์ ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายต้นไม้ในเมือง กล่าวว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ชายหาดพัทยาแล้วมีการตัดต้นไม้เก่าอย่างต้นหูกวางและในแบบบอกว่าจะมีการปลูกต้นไม้ใหม่บางต้น เช่น ต้นอินทผาลัม และต้นปาล์ม ทำให้ในโลกโซเซียลเกิดการต่อต้านไม่พอใจ กลุ่มตัวแทนภาคประชาชนที่เห็นความสำคัญของต้นไม้ในเมือง จึงเดินทางมาหารือร่วมกับเมืองพัทยา เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน

สำหรับข้อสรุปที่ได้ในครั้งนี้เมืองพัทยารับในหลักการที่ว่า อาจจะมีการเข้าใจผิดในการสื่อสารและจะไม่ตัดต้นไม้เก่าออก พร้อมจะมีการปรับแบบในการคงต้นไม้ให้คงอยู่ ซึ่งทางเครือข่ายเสนอแนวทางด้วยการสร้างระบบบริหารจัดการต้นไม้ในเมืองใหม่ทั้งระบบ โดยจะมีการนำศาสตร์รุกขกรรม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาและการจัดการต้นไม้ในเมืองมาดำเนินการในเมืองพัทยา ตั้งแต่กระบวนการก่อสร้างที่ไม่ให้ต้นไม้เสียสุขภาพ โดยจะมีเทคโนโลยีการก่อสร้างการเลือกวัสดุ รวมถึงเทคนิคที่มีการเปลี่ยนของการก่อสร้างแบบเดิมเพื่อรักษาชีวิตต้นไม้ หลังจากนั้นจะมีการอบรมทั้งระดับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการให้รู้วิธีการดูแลต้นไม้ อีกทั้งจะนำเอาเครื่องเสียมลมที่เป็นตัวเป้ากินในการดูแลรากต้นไม้มาฟื้นฟูสุขภาพต้นไม้เก่าบริเวณชายหาดพัทยา ซึ่งเมืองพัทยาพร้อมรับหลักการทั้งหมด และหลังจากนี้ 1 เดือน จะมีการลงรายละเอียดเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลง

ด้านนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า การหารือร่วมกับเครือข่ายต้นไม้เป็นโอกาสที่ดีของเมืองพัทยา ที่ผ่านมาเมืองพัทยาอาจจะมองศาสตร์รุกขกรรมที่เกี่ยวกับต้นไม้และพืชในรูปแบบหนึ่ง จึงทำให้การดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์มองไม่ลึกลงไปเป็นศาสตร์รุกขกรรม ที่จะทำให้การพัฒนาและการรักษาธรรมชาติไว้ให้เดินหน้าไปด้วยกันได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ของการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของ EEC ซึ่งการปรับปรุงและพัฒนาจึงมีความจำเป็น เนื่องจากชายหาดพัทยาจะเป็นพื้นที่พักผ่อน กีฬา และการจัดกิจกรรมต่างๆ บนพื้นที่บริเวณชายหาดและฟุตบาธ จึงจะต้องมีการผสมผสานร่วมกัน

นายสนธยา กล่าวอีกว่า ส่วนในเรื่องที่จะต้องเดินไปด้วยกันให้ได้ทั้งเรื่องของการพัฒนาและแนวทางในการที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีแนวทางดำเนินการร่วมกันต่อไป โดยจะเริ่มตั้งแต่การสร้างความรู้ในการดูแลต้นไม้ในระดับผู้บริหารไปจนถึงผู้ปฏิบัติที่จะต้องเข้าใจในศาสตร์รุกขกรรม ซึ่งจะทำให้การพัฒนาและการปรับปรุงพื้นที่ชายหาดว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ส่วนของรายละเอียดและหลักการ รวมไปถึงรูปแบบในการปรับจะเดินไปในทิศทางเดียวกันกับเครือข่ายฯ ทั้งในส่วนของต้นไม้ รวมไปถึงต้นไม้ประจำถิ่นอย่าง ต้นเกศ ต้นนนทรี จะยังคงอยู่ไม่ได้มีการตัดแต่อย่างใด ส่วนต้นหูกวางอาจจะมีการตัดและล้อมย้ายบ้าง พร้อมจะมีการปลูกต้นใหม่เพิ่ม สร้างความร่มรื่นและการเป็นพื้นที่สีเขียวบริเวณชายหาดให้ยังคงอยู่และดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้นไม้เก่า ยังคงที่เก็บไว้มากกว่า 75% รวมกับต้นไม้ที่นำมาปลูกใหม่ จะทำให้ชายหาดพัทยามีต้นไม้เพิ่มมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน