+ชุมชนสาธารณสุข

แพทย์เตือนคนมีโรคประจำตัวลดเสี่ยงเผชิญฝุ่น(พิษ)

จากสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในพื้นที่เมืองพัทยาได้เลยขีดเส้นแดง นั่นคือมีค่าฝุ่นเกิน 201ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรซึ่งเป็นค่าอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้หลายภาคส่วนออกมาแสดงความเป็นห่วงเรื่องของสุขภาพร่างกายของประชาชนในพื้นที่เมืองพัทยา ซึ่งค่าอากาศที่ดีจะต้องมีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI )ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม อยู่ในขีดเส้นสีเขียว หมายถึงดีต่อสุขภาพ 51-100 มคก./ลบ.ม ขีดเส้นสีเหลือง ค่าฝุ่นปานกลาง 101-200 มคก./ลบ.ม ขีดเส้นสีส้มเริ่มมีผลต่อสุขภาพ และ 201 มคก./ลบ.ม ขึ้นไป ขีดเส้นสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ

นพ.กิจการ จันทร์ดา อายุรแพทย์ โรงพยาบาลจอมเทียน เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพอากาศในพื้นที่เมืองพัทยาในช่วงนี้าต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในส่วนขอค่าฝุ่นละออง อย่างใกล้ชิด เนื่องจากว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าค่าฝุ่นละอองในพื้นที่พัทยา แตะเส้นแดงคือมีค่าฝุ่นละอองที่ 200 มคก./ลบ.ม นั้นหมายถึงเป็นสภาพวะอากาศที่มีผลต่อสุขภาพ เป็นอากาศที่ผู้ที่มีภาวะเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้สุงอายุ ไม่ควรออกไปรับอากาศด้านนอก หรือถ้ามีความจำเป็นควรที่จะมีอุปกรณ์ในการป้องกันที่เหมาะสม นั่นก็คือ หน้ากากอนามัย N95 ที่สามารถใช้ในการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้เนื่องจาก PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เทียบได้ว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ เล็กจนขนจมูกของมนุษย์ที่ทำหน้าที่กรองฝุ่นนั้นไม่สามารถกรองได้ จึงแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และเข้าสู่อวัยอื่น ๆ ในร่างกายได้ ตัวฝุ่นเป็นพาหะนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก และสารก่อมะเร็งอื่น ๆ ดังนั้นในส่วนของผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยงต้องมีการเฝ้าระวังและเช็คสภาพฝุ่นละอองขนาดเล็กกันอย่างต่อเนื่อง หลายคนสงสัยว่าฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นมาได้อย่างไร สาเหตุหลักๆ เกิดมาได้ 2 ประเด็น 1.แหล่งกำเนิดโดยตรง ได้แก่ การเผาในที่โล่ง การคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมการผลิต 2.การรวมตัวของก๊าซอื่นๆ ในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และออกไซด์ของไนโตรเจน รวมทั้งสารพิษอื่นๆ ที่ล้วนเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ เช่น สารปรอท , แคดเมียม , อาร์เซนิก หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน

สำหรับร่างกายของผู้ที่แข็งแรงเมื่อได้รับฝุ่น PM2.5 อาจจะไม่ส่งผลกระทบให้เห็นในช่วงแรกๆ แต่หากได้รับติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือสะสมในร่างกาย สุดท้ายก็จะก่อให้เกิดอาการผิดปกติของร่างกายในภายหลัง โดยแบ่งได้เป็นผลกระทบทางร่างกาย และผลกระทบทางผิวหนัง

ผลกระทบทางสุขภาพ เกิดอาการไอ จาม หรือภูมิแพ้ ส่วนผู้ที่เป็นภูมิแพ้ฝุ่นอยู่แล้ว จะยิ่งถูกกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น เกิดโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจเรื้อรัง เกิดโรคปอดเรื้อรัง หรือมะเร็งปอด

ส่วนผลกระทบทางผิวหนัง อาจมีผื่นคันตามตัว ปวดแสบปวดร้อน มีอาการระคายเคือง เป็นลมพิษ ถ้าเป็นหนักมากอาจเกิดลมพิษบริเวณใบหน้า ข้อพับ ขาหนีบ ทำร้ายเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวอ่อนแอ เหี่ยวย่นง่าย ซึ่งองค์การอนามัยโลก กำหนดให้ฝุ่น PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง

ทั้งนี้ หากไม่รู้ว่าเวลาไหนที่คุณภาพอากาศเริ่มเป็นอันตรายต่อสุขภาพ สามารถตรวจเช็คดัชนีคุณภาพอากาศ Air Quality Index : AQI ได้ที่เว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ โดยประเทศไทยแบ่งดัชนีคุณภาพอากาศเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป โดยใช้สีเป็นตัวเปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพ.