วันพุธ, เมษายน 30, 2025
Latest:

ทช.จับมือ ศรชล.ภาค1ปฏิบัติการเก็บกู้อวนยักษ์เกาะมารวิชัย เมืองพัทยา เร่งสร้างความตระหนักรู้ ฟื้นฟูแนวปะการัง

จากกรณีที่มีนักท่องเที่ยวดำน้ำบริเวณแนวปะการังเกาะมารวิชัย จ.ชลบุรี ได้ถ่ายภาพใต้น้ำและเผย แพร่ผ่านสื่อโซเชียลว่าพบอวนผืนใหญ่ปกคลุมแนวปะการังของเกาะมารวิชัย ห่างจากฝั่งประมาณ 10 ไมล์ทะเล ทำให้แนวปะการังได้รับผลกระทบ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและสำรวจอย่างเร่งด่วน จนพบว่ามีผืนอวนขนาดใหญ่ เป็นอวนล้อมจับ อวนดำ ขนาดกว้าง 18 เมตร ยาว 23 เมตร จำนวน 1 ผืน ปกคลุมแนวปะการังบริเวณทิศใต้ของเกาะ พื้นที่รวมประมาณ 414 ตารางเมตร ที่ระดับความลึกของน้ำประมาณ 12 เมตร จึงเร่งกำหนดแนวทางการเก็บกู้อวนยักษ์ดังกล่าว

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2564 นายธเนศ มั่นน้อย เลขานุการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นประธานเปิดกิจกรรมการเก็บกู้อวนอนุรักษ์แนวปะการัง โดยมีเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง,ทัพเรือภาคที่ 1, ศรชล.ภาค 1, เมืองพัทยา,ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 1 ตลอดจนเครือข่ายนักดำน้ำอาสาสมัคร เข้าร่วมในการปฏิบัติภารกิจ และเมื่อเก็บกู้อวนแล้วเสร็จจะเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ สอบสวนสืบหาผู้กระทำผิดต่อไป โดยปัญหาจากเครื่องมือประมงที่กระทบต่อแนวปะการัง เป็นปัญหาที่พบบ่อย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญ และพยายามกระตุ้นเตือน สร้างความตระหนักรู้ ให้ผู้ประกอบการ และชาวประมงร่วมมือกัน

ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. กล่าวว่าการดูแลแหล่งปะการังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ นักดำน้ำผู้มีประสบการณ์สูง และที่สำคัญต้องได้รับความร่วมมือและความใส่ใจจากพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยว จึงได้เร่งรัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเล โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีแหล่งปะการังที่สมบูรณ์ ล่าสุดมีการประกาศคำสั่งคุ้มครองทรัพยากรปะการังในบริเวณพื้นที่กองหินใต้น้ำใน 6 จังหวัด 21 พื้นที่ มีผลบังคับใช้จนถึงปี 2569 ตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ซึ่งอาจต้องใช้เวลาตามกระบวนการกฎหมาย แต่หากมีความจำเป็นต้องประกาศเป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อป้องกันความเสียหายต่อทรัพยากร สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้เลย สิ่งใดที่เราสามารถดำเนินการได้ต้องทำทันที จึงได้สั่งการให้สำรวจพื้นที่แหล่งปะการังอื่นเพิ่ม เติม และหากจำเป็นต้องประกาศเพิ่มก็ให้เร่งดำเนินการทันที

นายโสภณ ทองดี อธิบดี ทช. กล่าวเพิ่มเติมว่าที่ผ่านมาได้ดำเนินการดูแลแหล่งปะการังมาโดยตลอด ทั้งปลูกฝังจิตสำนึก มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน กลุ่มชาวประมง ตลอดจนผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว อย่างเกาะมารวิชัยนี้ตั้งอยู่ห่างไกลจากชายฝั่ง ทำให้มีน้ำทะเลใสหาดทรายสวยสะอาด เป็นอีกหนึ่งแห่งที่มีทรัพยากรปะการัง ใต้ผืนน้ำรอบๆ เกาะมีปะการังและสัตว์ทะเลหลากหลายที่อุดมสมบูรณ์ จึงมีนักดำน้ำ (แบบ scuba diving) ไปดำน้ำชมความงามอยู่เสมอ จึงใช้กฎหมายเข้ามาเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองทรัพยากรเหล่านี้ ร่วมกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และ พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับการทำการประมงพาณิชย์ และได้เร่งรัดการประชาสัมพันธ์และการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการกำกับและดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว

ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้จัดส่งชุดประดาน้ำจำนวน 42 คน และเรือในการปฏิบัติการทั้งสิ้น 7 ลำ เพื่อดำลงไปปฏิบัติการเก็บกู้อวนที่ปกคลุมแนวปะการังในพื้นที่ดังกล่าว โดยใช้เวลากว่า 1 ชม.จึงสามารถเก็บกู้ซากอวนขึ้นมาได้สำเร็จ โดยพบว่าแนวปะการังได้รับความเสียหายบางส่วน ซึ่งจากนี้จะได้เฝ้าระวังเพื่อให้แนวปะการังฟื้นฟูและกลับมามีสภาพดังเดิมต่อไป.
อธิบดี บุญชารี รายงาน