วันอาทิตย์, พฤษภาคม 18, 2025
Latest:

สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ตั้งโต๊ะชี้แจง กรณีคูกันช้างคอนกรีตเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติเขาอ่างฤาไนพังซ้ำซาก

จากกรณีที่ ชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทย ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุ “เครือข่าย ฯ ภาคตะวันออกรายงาน ว่า แนวกันช้างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติเขาอ่างฤาไน พังอีก หลังก่อสร้างได้สักพัก ยังไม่สามารถทำให้เสร็จเรียบร้อย เครือข่ายฯ ตั้งข้อสังเกตมาจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือทำผิดขั้นตอน หรือจากการออกแบบกันแน่ เพราะสอบถามไป ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเริ่มโยนกันไปมาแล้ว ประชาชนตรวจสอบแล้ว ฝากหน่วยงานตรวจสอบด่วน”

เป็นการรายงานความผิดปกติในการก่อสร้างแนวป้องกันช้างป่า ยาว 10 กิโลเมตร ภายใต้งบประมาณ 40.98 ล้านบาท ของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ชลบุรี ที่การดำเนินงานยังไม่แล้วเสร็จ แต่เสาหักพังครืนลงมา และยังระบุอีกว่าโครงการดังกล่าวไม่มีการบดอัดดินเป็นชั้นๆ ให้แน่นเกินกว่า 95% จนทำให้ดินการทรุดตัวและพังลงมา ซ้ำยังเปิดเผยที่มาของการคัดเลือกบริษัทเอกชนว่า เป็นวิธีประมูลแบบ E-Bidding แต่กลับมีแค่ผู้เข้าซื้อซอง ยื่นซองและเสนอราคาเพียงรายเดียวนั้น

ต่อมานายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ชลบุรี ได้นำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตั้งโต๊ะแถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า โครงการก่อสร้างคูกันช้างคอนกรีต เป็นไปตามนโยบายในการแก้ไขปัญหาช้างป่าของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ซึ่งมีช้างเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ที่คาดว่าจะมีช้างป่ากว่า 400 ตัว และรัฐบาลมีนโยบายให้ก่อสร้างคูกันช้างในหลายพื้นที่ โดยโครงการสร้างคูกันช้างคอนกรีตในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน มีการคัดเลือกผู้รับจ้างในรูปแบบ E-Bidding จนได้ผู้ดำเนินการ เป็นบริษัทในพื้นที่ที่มีประสบการณ์ในการก่อสร้างมานาน และเริ่มดำเนินงานในดือน พ.ย.2567 แต่เมื่อเริ่มการก่อสร้างก็เกิดปัญหาดินสไลด์ จนทำให้คูคอนกรีตเกิดความเสียหายตามที่เป็นข่าว

“ในครั้งนั้นสำนักฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพร้อมเจ้าหน้าที่ ปปช.ฉะเชิงเทรา และพบว่าในช่วงก่อสร้าง กม.ที่ 1 เกิดปัญหาจึงสั่งให้ผู้รับจ้างรื้อถอนเพื่อก่อสร้างใหม่ แต่ผู้รับจ้างยังไม่ได้มีรื้อถอน กระทั่งมาถึงเหตุการณ์ที่ถูกเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งก็คือจุดเดิมที่เมื่อมีฝนตกหนัก ทำให้เกิดดินสไลด์ จนคูกันช้างในจุดที่พังไปก่อนหน้าเกิดการพังซ้ำ ถือว่าไม่มีการเสียหายเพิ่มเติม เพราะในจุดนี้ผู้รับจ้างจะต้องทำการรื้อถอนอยู่แล้ว” นายก้องเกียรติ กล่าว

ส่วนกรณีโครงการก่อสร้างคูกันช้างตามสัญญา ที่ไม่ใช่ กม.ที่ 1 แต่ในส่วน กม.2 3 และ 4 ซึ่งผู้ก่อสร้างได้ดำเนินการต่อและได้มีการขอเบิกเงินประจำงวดที่ 2-4 ซึ่งก่อนตรวจรับสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ได้แจ้งไปยัง ปปช.ฉะเชิงเทรา ให้เข้าร่วมตรวจสอบเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ผลการตรวจสอบปรากฏว่า แนวคูกันช้างด้านคอนกรีตใน กม.ที่ 2-4 พบแผ่นคอนกรีตโป่งโค้งออกมาจากแนวเดิม หลังมีฝนตกลงมาจนทำให้น้ำพัดพาดินอัดเข้าไปในช่องว่างระหว่างดินกับแนวคอนกรีต จนแรงดันของดิน ดันแผ่นคอนกรีตให้โป่งออก คณะกรรมการผู้ตรวจรับงาน จึงไม่มีการลงนามในการตรวจรับ เนื่องจากเป็นงานที่ไม่สมบูรณ์ตามแบบที่สำนักฯ กำหนด พร้อมเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการเดินหน้าบริหารงานต่อไป และมีมติในที่ประชุมว่า ผู้รับจ้าง จะต้องแก้ไขการทำงานให้เป็นไปตามแบบที่กำหนด

“ส่วนเรื่องของแบบการก่อสร้างที่ผ่านมาทางสำนักฯ ได้สอบถามไปยังผู้ควบคุมงานและกรรมการตรวจรับว่าพบข้อบกพร่องในจุดใด และจะสามารถใช้แบบในการก่อสร้างได้ต่อไปหรือไม่ ในเบื้องต้นที่ประชุมได้มีมติให้ ผู้รับจ้างหยุดการก่อสร้างในโครงการดังกล่าวเป็นการชั่วคราวก่อน” ผู้อำนวยการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ชลบุรี กล่าวและระบุอีกว่า หลังจากนี้ สำนักฯ จะหารือกับ กรมบัญชีกลาง ว่าจะสามารถบริหารโครงการนี้ต่อไปได้หรือไม่ ขณะเดียวกันได้ทำหนังสือหารือไปยัง กรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อขอให้วิศวกรประจำสำนักฟื้นฟูพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กรมอุทยานฯ เข้ามาตรวจสอบหน้างาน ว่าการก่อสร้างคูแนวกันช้างคอนกรีต ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ โดยในวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา วิศวกรฯ จำนวน 4 นาย ได้เข้าไปตรวจสอบ

“ขอยืนยันว่าในโครงการที่มีปัญหานี้ คณะกรรมการตรวจรับการจ้างงานยังไม่มีการตรวจรับงาน และโครงการนี้ยังไม่มีการเบิกจ่ายเงินให้กับผู้รับจ้างแต่อย่างใด ที่สำคัญการตรวจรับงานในทุกครั้งทางสำนักฯ จะแจ้งให้เจ้าหน้าที่จากสำนักงาน ปปช.ฉะเชิงเทรา ร่วมตรวจสอบด้วยทุกครั้ง ส่วนคำถามเรื่องความโปร่งใสของโครงการนั้น ขณะนี้ผู้ควบคุมงานยังไม่รายงานว่ามีสิ่งใดที่ไม่เป็นไปตามแบบหรือไม่ ซึ่งเป็นการรายงานในวันที่ 2 พ.ค. แต่ในวันที่ 8 พ.ค.นี้ หลังการลงพื้นที่ตรวจสอบของวิศวกร อย่างละเอียด เชื่อว่าจะทราบข้อเท็จจริงอย่างแน่นอน” นายก้องเกียรติ ระบุ พร้อมยืนยันว่าตนเองในนามผู้อำนวยการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ขอยืนยันว่าโครงการก่อสร้างคูกันช้างคอนกรีต มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน และหากพบว่าการก่อสร้างในขั้นตอนใด ไม่มีความโปร่งใส ทางสำนักงานฯ พร้อมที่จะยกเลิกโครงการในทันที และขอยืนยันอีกว่าจุดที่เกิดความเสียหาย ยังไม่มีการตรวจรับงานและเบิกจ่ายค่าจ้างแต่อย่างใด เนื่องจากการดำเนินงานไม่เป็นไปตามแบบ ส่วนที่ไม่ตรงตามแบบเพราะเหตุใดขณะนี้ยังไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัด และต้องรอการลงพื้นที่ตรวจสอบของวิศวกร ส่วนการแก้ไขปัญหาช้างป่าบุกรุกพื้นที่ชาวบ้านนั้น สำนักงานฯ มีชุดปฏิบัติการผลักดันช่างเขาอ่างฤาไน จำนวน 5 ชุด และยังได้ว่าจ้างเจ้าหน้าที่ร่วมผลักดันช้าง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี อีก 60 นาย เพื่อป้องกันไม่ให้ช้างป่าออกจากเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน หากได้รับแจ้งว่ามีช้างป่าสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน กำลังพลเหล่านี้จะเข้าผลักดันช้างเพื่อลดความเสียหายในทันที

“ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนและผู้ที่ให้ความสนใจในโครงการแก้ไขปัญหาช้างป่าในครั้งนี้ และขอบคุณที่ช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบความผิดปกติสามารถแจ้งมาได้ที่สำนักงานฯ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้เช่นกัน” ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ชลบุรี กล่าว